ในยุคปัจจุบันสถานประกอบการโรงงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่เปิดมานานหลายปีหรือแม้กระทั่งโรงงานที่กำลังเปิดใหม่ มีการใช้เครื่องจักรในกระบวนการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกิดปัญหาเรื่องเสียงดังจากเครื่องจักร และสาเหตุที่เกิดปัญหาเสียงดังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าเกิดจากอะไร และส่งผลเสียอย่างไร หรือจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรเพื่อควบคุมปัญหาเสียงดังที่เกิดขึ้นได้
สาเหตุเสียงดังในโรงงานที่พบบ่อยเกิดจากอะไร
โดยส่วนใหญ่ปัญหาเสียงดังที่เกิดขึ้นในโรงงาน มีสาเหตุหลายประการมาจากเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งมีการใช้งานตลอดเวลา เครื่องจักรมีอายุการใช้งานมายาวนาน ทำให้เกิดการชำรุดเสียหาย หรือแม้กระทั่งเครื่องจักรใหม่ ก็ยังก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมเสียงในโรงงานโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
มีแนวทางควบคุมเสียงในโรงงานอย่างไร
การทำตู้ครอบลดเสียง (Acoustic Enclosures) เป็นวิธีลดเสียงทางวิศวกรรมในการควบคุมปัญหาเสียงที่แหล่งกำเนิดเสียงโดยตรง ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดเสียงได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยลดระดับเสียงลงได้มากกว่า 30 เดซิเบลเอ (ขึ้นอยู่กับพลังงานเสียงและความถี่เสียง) ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเสียงได้ทั้งในย่านความถี่ต่ำและความถี่สูง
การทำห้องกันเสียง (Soundproof Room) โดยออกแบบและติดตั้งได้ถูกต้องตามหลักอคูสติกและวิศวกรรม สามารถลดระดับเสียงลงได้ประมาณ 10-30 เดซิเบลเอ โดยมีทั้ง “ห้องกันเสียงทั่วไป” และ “ห้องกันเสียงแบบถอดได้” สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกเหนือจากระดับเสียงที่ลดลงแล้ว คือการระบายความร้อนหรือการถ่ายเทอากาศที่ตัวเครื่องจักรที่ถูกปิดคลุมด้วยห้องกันเสียง เพราะอาจเกิดความร้อนสะสมอยู่ภายในห้องกันเสียง
“แจ็คเก็ตลดเสียง” หรือ “Acoustic Jackets” นิยมใช้ในกรณีที่พื้นที่และงบประมาณมีจำกัด ประสิทธิภาพในการลดเสียงประมาณ 6-15 เดซิเบลเอ และสูงสุด 25 เดซิเบลเอ วัสดุที่ออกแบบมีคุณภาพสูง ไม่ติดไฟ และใช้กับแหล่งกำเนิดเสียงที่มีอุณหภูมิสูงได้
ทั้งนี้แนวทางควบคุมเสียงข้างต้นอาจขึ้นอยู่กับระดับความดังของเสียง และสถานประกอบการแต่ละแห่ง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมในการควบคุมเสียงในโรงงาน ให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมเสียงมากที่สุด
ถ้าโรงงานเสียงดังเกินค่ามาตรฐานแต่ไม่มีการแก้ไข จะเกิดผลเสียอย่างไร
เสียงดังเกินค่ามาตรฐาน อาจเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการบางโรงงาน ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น จึงไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร เพราะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากใช้เครื่องจักรในการผลิต เรื่องเสียงดังจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากปล่อยให้เสียงดังเกินค่ามาตรฐาน โดยที่ไม่มีการแก้ไขหรือหาแนวทางในการควบคุมเสียง ก็อาจเป็นผลร้ายแรงกับสถานประกอบการได้ ดังนี้
1. ถูกตรวจสอบทางกฎหมาย
ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน ต้องควบคุมระดับเสียงในระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เกิน 85 เดซิเบลเอ หากไม่ได้มีการควบคุมหรือแก้ไขให้ระดับเสียงเป็นไปตามกฎหมาย จะถือว่าสถานประกอบการนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งโทษทางกฎหมายมีตั้งแต่โดนปรับ ไปจนถึงสั่งพักกิจการชั่วคราวได้ แต่ถ้าหากนิ่งเฉยโดยที่ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขใด ๆ อาจโดนสั่งปิดกิจการเพื่อปรับปรุง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้
2. ถูกร้องเรียนโดยชุมชนใกล้เคียง
ในทางกฎหมายมีการกำหนดระดับเสียงที่สถานประกอบกิจการต้องควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากโรงงานปล่อยให้เสียงดังรบกวนชุมชนใกล้เคียง ปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นก็คือ การร้องเรียนโดยชุมชนที่ได้รับผลกระทบกับเสียงดังรบกวน หากเกิดการร้องเรียนขึ้นจริง จะถือว่าโรงงานทำผิดกฎหมาย และอาจทำให้ภาพลักษณ์ของโรงงานเสียหายได้
3. ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานลดลง
กฎหมายกำหนดไว้ว่า ระดับเสียงเฉลี่ยในการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ต้องไม่เกิน 85 เดซิเบลเอ แต่ถ้าพนักงานสัมผัสเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน อาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย และจิตใจของพนักงานได้ หากเกิดอันตรายกับพนักงานเนื่องจากเสียงดังเป็นสาเหตุ บริษัทจะต้องรับผิดชอบพนักงานในการดูแลรักษา และยังเสี่ยงต่อการโดนพนักงานฟ้องร้องในข้อหาทำให้เกิดโรคจากการทำงานหรือการสูญเสียการได้ยินจากการทำงานได้ด้วย และในขณะเดียวกัน พนักงานที่ได้รับผลกระทบกับเสียงดัง ก็จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และเกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตได้
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางในการควบคุมเสียงในโรงงานแล้ว จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องเสียงไม่ใช่เรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะควบคุมได้ง่ายเช่นเดียวกัน เนื่องจากเราต้องมีการวางแผนในการควบคุมเสียงอย่างถี่ถ้วน ต้องวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ต้องมีเครื่องมือ ความรู้ความเข้าใจ และกระบวนการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดการลองผิดลองถูก หรือสูญเสียงบประมานในการแก้ไขโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการควบคุมเสียงในโรงงาน ที่มีประสบการณ์ในการควบคุมเสียงมาช่วยดูแลหรือเป็นที่ปรึกษา รวมถึงการออกแบบแนวทางในการลดเสียงเพื่อควบคุมเสียงให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและประหยัดงบประมาณมากที่สุด
ฉนวนกันเสียง ปัญหาเสียงดังแก้ไขได้ ไม่บานปลาย ประหยัดงบประมาณ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://noisecontrol365.com/